ประวัติตำนาน สงกรานต์ มาจากไหน สู่ความสำคัญ ประเพณีวันสงกรานต์ 2567

ประวัติตำนาน สงกรานต์ มาจากไหน สู่ความสำคัญ ประเพณีวันสงกรานต์ 2567

ENNXO
/
Blog
/
ประวัติตำนาน สงกรานต์ มาจากไหน สู่ความสำคัญ ประเพณีวันสงกรานต์ 2567

แชร์

Share on Line
อัพเดทล่าสุด: 14 มิ.ย. 2567

“ฟ้าใหม่แล้วละนะน้อง สงกรานต์เราร้องทำนองเพลงโทน โน่นไงจ๊ะ โทนป๊ะโท่นโทน ทั้งโยกทั้งโยนเย้ายวนยั่วใจ.......” หากเพลงนี้ดังแผ่วเข้ามาในหูให้ได้ยิน นั่นเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่รับรู้ได้ว่ากำลังเข้าสู่เทศกาลวันสงกรานต์ เมื่อเทศกาลสงกรานต์มาถึงผู้คนต่างเคลื่อนย้ายเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาบ้านเกิดในช่วงเวลาวันหยุด ทว่าสงกรานต์ได้แฝงไปด้วยตำนานเรื่องเล่า วัฒนธรรม พิธีกรรมที่สืบทอดกันมา ทำให้สงกรานต์ไทยมีความเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่โดดเด่นจนเข้าตาองค์การยูเนสโก

ประวัติตำนาน สงกรานต์ มาจากไหน สู่ความสำคัญ ประเพณีวันสงกรานต์ 2567

ประวัติวันสงกรานต์ แบบย่อ

สงกรานต์กี่วัน ใครอยากรู้ต้องอ่านประวัติสงกรานต์ โดย "สงกรานต์" เป็นเทศกาลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทยที่มีระยะเวลาทั้งหมด 3 วัน ระหว่างวันที่ 13 -15 เมษายนของทุกปี ในวันที่ 13 เป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เป็นวันเนา และวันที่ 15 เป็นวันเถลิงศก โดยสงกรานต์ถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมายาวนานจนเรียกว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทย โดย ส.พลายน้อย อธิบายถึงความหมายของ สงกรานต์ ว่าเป็นภาษาสันสฤต แปลว่า การย่างขึ้น กล่าวคือ การเคลื่อนย้ายของดวงอาทิตย์จากจักรราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง เรียกว่า ขึ้นปีใหม่ หรือมหาสงกรานต์ แต่ในความหมายของ สงกรานต์ไทย คือ การเคลื่อนย้ายของจักรราศีมีนไปสู่ราศีเมษในเดือนเมษายน 

ประวัติตำนาน สงกรานต์ มาจากไหน สู่ความสำคัญ ประเพณีวันสงกรานต์ 2567

ตำนานวันสงกรานต์สู่การกำเนิดนางสงกรานต์

ตำนานปรัมปราที่มีการเล่าสืบทอดต่อกันมานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามีการบันทึกไว้ในจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร โดยตำนานวันสงกรานต์กำเนิดมาจากท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ดังนี้

“สมัยก่อนพุทธกาลมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่งมั่งมีทรัพย์สมบัติ แต่ไม่มีทายาทสืบตระกูล ประกอบกับถูกเพื่อนบ้านเยาะเย้ยอยู่เป็นประจำ ว่าเศรษฐีนั้นเมื่อตายไปสมบัติทั้งหลายก็ตกไปเป็นของผู้อื่น สู้ตนเองไม่ได้ถึงจะยากจนก็มีบุตรคอยดูแลยามเจ็บไข้ เศรษฐีท่านนั้นจึงทุกข์ใจมากพยายามหาวิถีทางอ้อนขอให้ตนเองมีบุตรด้วยการบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ต่อเนื่องนานถึง 3 ปี จนกระทั่งวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ เศรษฐีท่านนั้นให้บริวารล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาดถึง 7 ครั้งแล้วหุงข้าวบูชาพระไทร ทวยเทพทั้งหลายจึงเกิดความสงสารไปขอเข้าเฝ้าพระอินทร์ทูลขอบุตรให้เศรษฐี พระอินทร์จึงดลบันดาลให้เทพบุตร “ธรรมบาล” ลงมาเกิดเป็นบุตรเศรษฐีในชื่อ “ธรรมบาลกุมาร”

ด้วยสติปัญญาที่เฉียบคมของบุตรชายนั้น ทำให้ “ท้าวกบิลพรหม” คิดลองเชิงปัญญาโดยเอาชีวิตของตนเป็นเดิมพัน ด้วยคำถาม 3 ข้อ ซึ่งธรรมบาลตอบคำถามได้ครบทั้งสามข้อ ดังนี้ ข้อหนึ่ง ตอนเช้าราศีของมนุษย์อยู่ที่ใด: อยู่ที่หน้าจึงต้องล้างหน้าทุกเช้า ข้อสอง ตอนเที่ยงราศีของมนุษย์อยู่ที่ใด: อยู่ที่อกจึงต้องพรมเครื่องหอมที่อก ข้อสาม ตอนค่ำราศีของมนุษย์อยู่ที่ใด: อยู่ที่เท้าจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน

ประวัติตำนาน สงกรานต์ มาจากไหน สู่ความสำคัญ ประเพณีวันสงกรานต์ 2567

ธรรมบาลบุตรเศรษฐีตอบได้ดังนั้น ทำให้ท้าวกบิลพรหมต้องทำตามสัตย์ที่กล่าวไว้ จึงเรียกธิดาทั้ง 7 ของตนมาฝากฝังว่าหากตนตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมารนั้น ถ้าจะเอาศีรษะวางบนแผ่นดินจะลุกเป็นไฟ ถ้าโยนขึ้นอากาศจะแห้งแล้ง ถ้าทิ้งลงมหาสมุทรทำให้น้ำแห้งแล้ง จึงสั่งให้ลูกทั้ง 7 นำพานมารองรับศีรษะ นางทุงษเทวี ธิดาองค์โตจึงนำพานไปแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ เสร็จแล้วอัญเชิญไว้ที่เขาไกรลาส โดยธิดาทั้ง 7 องค์ต้องหมุนเวียนมาเชิญพระเศียรของบิดาในแต่ละรอบปี นั่นจึงเป็นที่มาของตำนานวันสงกรานต์ ว่าในหนึ่งปีต้องมีสงกรานต์ จึงทำให้นามของท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ เป็นที่มาของตำนานวันสงกรานต์”

จากตำนานวันสงกรานต์สู่การกำเนิดตำนานนางสงกรานต์ โดยนางสงกรานต์ทั้ง 7 องค์นั้นเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม ผู้เป็นนางฟ้าบนสวรรค์สถิตในชั้นจาตุมหาราช ทั้ง 7 องค์ต้องรับหน้าที่แห่พระเศียรของท้าวมหาสงกรานต์รอบเขาพระสุเมรุในวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ทุกๆ ปี ซึ่งนางสงกรานต์ทั้ง 7 ได้แก่ นางทุงษเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์, นางโคราดเทวี นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์, นางรากษสเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร, นางมัณฑาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพุธ, นางกิริณีเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี, นางกิมิทาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์, นางมโหทรเทวี นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์

ประวัติตำนาน สงกรานต์ มาจากไหน สู่ความสำคัญ ประเพณีวันสงกรานต์ 2567

สำหรับนางสงกรานต์ ปี 2566 ทางฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธีสำนักพระราชวังได้ประกาศนามนางสงกรานต์ที่ ตรงกับวันศุกร์ที่ 14 เมษายน (แรม 9 ค่ำ เดือน 5 ปีเถาะ) นางสงกรานต์นามว่า “กิมิทาเทวี” นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี และประดับด้วยแก้วบุษราคัม มีภักษาหารคือกล้วยกับน้ำ ส่วนอาวุธประจำพระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ และพระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ โดยเสด็จประทับเหนือหลังมหิงส์ที่เป็นพาหนะ

สงกรานต์ ตำนานไทยหรือเทศ ทำไมเรียกวันขึ้นปีใหม่ไทย

สงกรานต์ หรือในบางครั้งเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์ คือ ประเพณีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยคำว่า ตรุษ มาจากภาษาทมิฬ หมายถึง การสิ้นปี นั่นหมายถึงว่าสงกรานต์เป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่อย่างไทย โดยสงกรานต์ตามหลักฐานหรือคำกล่าวอ้างพบว่า สงกรานต์ เป็นวัฒนธรรมที่พบได้ทั่วไปในทวีปเอเชีย อย่างประเทศลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม จีน ศรีลังกา มาเลเซีย หรือบางส่วนของอินเดีย เพราะพื้นที่เหล่านี้มีการรับสืบทอดและเผยแพร่วัฒนธรรมกันมาช้านานในอดีต จึงทำให้มีประเพณีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน

หลายคนจึงเข้าใจว่า สงกรานต์ของไทย มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียอย่างเทศกาลโฮลี (Holi) เป็นเทศกาลรื่นเริงที่จัดขึ้นในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 โดยชาวอินเดียเชื่อกันว่าโฮลีเป็นเทศกาลที่ช่วยปัดเป่าโชคร้าย ขจัดโรคภัยต่างๆ จึงนิยมสาดสีที่ทำมาจากพืชสมุนไพรธรรมชาติใส่กัน ซึ่งนำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าเมื่อประเทศไทยรับเอาประเพณีนั้นมาจึงเปลี่ยนมาเป็นการสาดน้ำเพื่อคลายร้อนในช่วงฤดูร้อน แต่นักประวัติศาสตร์ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” อธิบายว่า “ประเพณีสงกรานต์ไทยไม่เกี่ยวข้องกับเทศกาลสาดสีของอินเดีย เพราะขนบการสาดน้ำใส่กันนั้นเพิ่งเป็นที่นิยมกันในช่วงหลังมานี้” จากคำอธิบายข้อนี้ทำให้ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าแท้จริงแล้วตำนานสงกรานต์ไทยเป็นของไทยแท้ๆ หรือรับเอามากันแน่

ประวัติตำนาน สงกรานต์ มาจากไหน สู่ความสำคัญ ประเพณีวันสงกรานต์ 2567

เมื่อ พ.ศ. 2491 สำนักนายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้ถือวันที่ 13 เมษายน เป็นวันสงกรานต์ จนกระทั่งกลายเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ทั้งนี้ก่อนจะมีการกำหนดอย่างชัดเจนได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาหลายครั้ง กล่าวคือ วันขึ้นปีใหม่ไทยดั้งเดิมไม่ใช่วันสงกรานต์ในอดีต แต่เดิมการนับหรือกำหนดวันในช่วงเวลาต่างๆ ใช้การคำนวณโหราศาสตร์ตามจุลศักราช นั่นอาจหมายถึงว่าในแต่ละปีของสงกรานต์จะไม่เป็นวันเดียวกัน แต่ยึดตามการคำนวณอย่างโบราณ ซึ่งเพิ่งมีการกำหนดให้วันที่ 13 - 15 เมษายน ของทุกปีเป็นวันสงกรานต์อย่างชัดเจนขึ้นมาในภายหลัง

สงกรานต์กับวิถีปฏิบัติคนไทย

สงกรานต์แรกเริ่มเป็นพิธีที่จัดขึ้นในครอบครัว ญาติมิตร หรือเพื่อนบ้านใกล้เคียงกัน ด้วยความเข้าใจว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ วิธีธรรมเนียมปฎิบัติจึงเป็นไปเพื่อความสิริมงคลเพื่อต้อนรับศักราชใหม่ อย่างเช่น สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ขอขมาพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ ก่อเจดีย์ทราย ทำบุญตักบาตร รำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ แต่ภายหลังสงกรานต์มีมิติขยายกว้างออกสู่สังคมภายนอก ซึ่งนัยยะของสงกรานต์ได้เปลี่ยนแปลงไปตามบริบท และความเชื่อของสังคม อย่างไรก็ตามประเพณีในวันสงกรานต์ที่ยังสืบทอดให้เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนั้นยังคงไว้ซึ่งธรรมเนียมบางอย่างที่เป็นมงคลชีวิต

ก่อเจดีย์
ตักบาตร
รดน้ําดําหัว

สงกรานต์ไทยสู่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกยูเนสโก

ประวัติตำนาน สงกรานต์ มาจากไหน สู่ความสำคัญ ประเพณีวันสงกรานต์ 2567

ช่วงปี 2566 ที่ผ่านมานี้ มีรายงานระบุให้ ประเพณีสงกรานต์ไทย (Songkran in Thailand, Traditional Thai New Year Festival) เข้าสู่บัญชีรายชื่อ Tentative list พิจารณาเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลำดับที่ 4 ของไทย โดยองค์การยูเนสโกรับพิจารณาประเพณีสงกรานต์ไทยขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมประเภทจับต้องไม่ได้

แชร์

Share on Line

บทความใกล้เคียง