แมวเบงกอล (Bengal) มีกี่ลาย รู้จักนิสัย ลักษณะ การดูแล เลี้ยงยากไหม?

แมวเบงกอล (Bengal) มีกี่ลาย รู้จักนิสัย ลักษณะ การดูแล เลี้ยงยากไหม?
  • ENNXO
  • Blog
  • แมวเบงกอล (Bengal) มีกี่ลาย รู้จักนิสัย ลักษณะ การดูแล เลี้ยงยากไหม?
โดย ENNXO
อัพเดทล่าสุด: 17 ก.พ. 2568

แชร์ไปยัง :

Share on Line

เบงกอล ชื่อแมวที่มีลวดลายคล้ายหินอ่อน ซึ่งความสวยงามของแมวสายพันธุ์นี้ทำให้หลายคนตกหลุมรักและอยากลองเลี้ยงน้องดูบ้าง แต่ด้วยลักษณะของน้องที่เหมือนกับแมวป่า อาจสร้างความสงสัยว่าแมวเบงกอลเลี้ยงยากไหม มีนิสัยยังไง และแมวเบงกอลแท้มีลักษณะอย่างไร มาทำความรู้จักเจ้าเบงกอลมากขึ้นได้ที่นี่

ข้อมูลเกี่ยวกับแมวเบงกอล (Bengal Cat)

ประวัติแมวเบงกอล มาจากไหน

แมวเบงกอลมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ย้อนกลับไปในช่วงปี 1963 นักเพาะพันธุ์ Jean Mill ได้นำแมวดาวเอเชียมาผสมพันธุ์กับแมวตัวผู้ ซึ่งตั้งชื่อแมวพันธุ์ผสมนี้ว่า “เบงกอล” มีจุดประสงค์คือ เพื่อช่วยแมวดาวเอเชียจากการโดนมนุษย์ลักลอบล่าสัตว์ และต้องการสร้างสายพันธุ์แมวที่คล้ายเสือดาว เลี้ยงง่าย ไม่ดุ เพื่อป้องกันไม่ให้คนนำแมวป่ามาเลี้ยงแทน การเพาะพันธุ์แมวเบงกอลนี้ได้รับการปรับปรุงพันธุ์เรื่อยมา กระทั่งปี 1975 ด็อกเตอร์ Willard Centerwall ได้นำแมวผสมที่เกิดจากแมวดาวเอเชียกับแมวพื้นเมืองมาให้กับเธอได้วิจัยต่อ

ในปี 1982 เธอได้รับแมวบ้านลายจุดจากสถานสงเคราะห์ และแมวจุดสีส้มที่ไปเจอที่ประเทศอินเดีย แล้วนำแมวทั้งสองตัวนี้มาผสมพันธุ์กับแมวพันธุ์ผสมที่ด็อกเตอร์ Willard Centerwall ให้มา จนในปี 1986 Jean Mill ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์แมวเบงกอลในที่สุด

ในปี 1991 แมวเบงกอลได้รับการยอมรับจากสมาคม TICA ให้เป็นแมวสายพันธุ์ใหม่ จนถึงในปี 2016 แมวเบงกอลได้รับการจดทะเบียนจากสมาคม Cat Fanciers’ Association (CFA) ส่วนที่มาของชื่อแมวเบงกอลนั้น มาจากคำว่า Felis Bengalensis เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของแมวดาวนั่นเอง

ข้อมูลเกี่ยวกับแมวเบงกอล (Bengal Cat)

ลักษณะนิสัยแมวเบงกอล

แมวเบงกอลเป็นแมวที่เต็มไปด้วยพลังและความกระตือรือร้น น้องเป็นแมวที่ขี้สงสัย มักสังเกตสิ่งรอบข้างตลอดเวลา มีความแอคทีฟสูง ปีนป่ายเก่ง ชื่นชอบการวิ่ง กระโดดเก่ง รวมถึงชอบเล่นกับคนมากๆ หากแมวเบงกอลรู้สึกเหงาเมื่อไหร่จะเริ่มแสดงอาการข่วนหรือทำลายสิ่งของ แต่แมวเบงกอลเป็นแมวฉลาดหากฝึกฝนน้อง น้องก็จะเชื่อฟังและเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามแมวเบงกอลยังคงมีสัญชาตญาณความเป็นนักล่า น้องอาจจะเผลอล่าสัตว์ตัวเล็กมาให้เจ้าของได้เชยชม อ่านแล้วลักษณะนิสัยของแมวเบงกอลก็คล้ายๆ กับแมวไทยบ้านเรานั่นเอง

ข้อมูลเกี่ยวกับแมวเบงกอล (Bengal Cat)

แมวเบงกอลแท้ ดูอย่างไร

ข้อมูลเบื้องต้นแมวเบงกอล (Bengal)

ข้อมูลสำคัญ

รายละเอียด

อายุเฉลี่ย

10 - 16 ปี

น้ำหนัก

3 - 7 กิโลกรัม

ส่วนสูง

8 - 10 นิ้ว

ลักษณะขน

ขนสั้นและหนา

จุดเด่น

ลวดลายแบบหินอ่อน มีลายจุด

แมวเบงกอล มีลักษณะเด่นคือลวดลายขนที่มีความคล้ายลายหินอ่อน เหมือนกับแมวป่า โดยเช็คแมวเบงกอลแท้ จากลักษณะได้ดังนี้ มีลำตัวเรียวเล็ก ใบหน้าเรียวเล็ก หูเล็กปลายมน รอบดวงตามีสีดำเข้ม ให้ความรู้สึกคล่องแคล่ว และดูดุคล้ายแมวป่าไปในเวลาเดียวกัน สีตาแมวเบงกอลเป็นจะมีสีทอง สีเขียว หรือสีน้ำตาล จุดเด่นแมวเบงกอลคือลวดลายจุด คล้ายกับเสือดาว แมวป่า หรือลายหินอ่อน สีขนพื้นฐานที่เห็นบ่อยๆ จะมีทั้งหมด 3 สีคือสีน้ำตาล สีเงิน และสีขาว

แมวเบงกอลมีอายุขัยเฉลี่ยที่ 10-16 ปี สำหรับเรื่องน้ำหนักนั้นแมวเบงกอลตัวผู้กับตัวเมียจะต่างกันเล็กน้อย โดยแมวเบงกอลตัวผู้ น้ำหนักประมาณ 4.5-6.8 กิโลกรัม แมวเบงกอลตัวเมีย น้ำหนักประมาณ 5.4 กิโลกรัม ส่วนส่วนสูงแมวเบงกอลอยู่ที่ประมาณ 8-10 นิ้ว

ข้อมูลเกี่ยวกับแมวเบงกอล (Bengal Cat)

แมวเบงกอล มีกี่ลวดลาย แบบไหนบ้าง

แมวเบงกอล แมวที่มีลวดลายสวยงาม ซึ่งแบ่งลวดลายเป็นหลักๆ ได้ 2 แบบคือ ลายจุด (Spotted Patterns) กับลายหินอ่อน (Marbled Patterns) แต่ละแบบก็มีลวดลายย่อยลงไปอีก มาดูกันว่ามีแบบไหนบ้าง

แมวเบงกอล ลายจุด

แมวเบงกอลลายจุด มีลักษณะลวดลายที่แตกต่างกันไป หลักๆ มีทั้งหมด 6 แบบด้วยกัน ดังนี้

  • Single-Spotting แมวเบงกอลที่มีลายจุดเข้มแบบสีเดียว
  • Cluster Rosettes มีลายจุดเล็กๆ กระจุกอยู่กับจุดอีกหนึ่งซึ่งมีสีคนละสีกับสีพื้นหลัง
  • Paw-Print Rosettes ลวดลายที่คล้ายอุ้งเท้า จุดนึงจะมีสีอ่อนอยู่อีกด้านและสีเข้มอีกด้าน
  • Embryonic Rosettes เป็นลวดลายจุดที่มีสีเข้ม แล้วมีสีอ่อนล้อมรอบจุดนั้นๆ
  • Doughnut Rosettes คล้ายกับ Embryonic Rosettes แต่ลวดลาย Doughnut จะกลับกัน คือ จุดสีอ่อนอยู่ด้านในล้อมรอบด้วยเส้นขอบสีเข้ม
  • Arrowhead Rosettes ลายจุดเป็นทรงสามเหลี่ยม คล้ายกับปลายลูกศรโดยชี้ไปด้านหลัง
ข้อมูลเกี่ยวกับแมวเบงกอล (Bengal Cat)

แมวเบงกอล ลายหินอ่อน

ทีนี้มาดูลวดลายแมวเบงกอล ลายหินอ่อนกันบ้าง ว่าแยกได้เป็นกี่แบบ ดังนี้

  • Tri-Colour and Quad-Colour เป็นลวดลายหินอ่อน ที่มีทั้งแบบสามสีและสี่สี
  • Horizontal Flowing ลายหินอ่อนที่ลากยาวไปตามลำตัว
  • Chaos Pattern ลวดลายหินอ่อนที่มีการหมุนวน
  • Closed Pattern สีของลวดลายหินอ่อนเกือบปิดสีพื้นหลัง
ข้อมูลเกี่ยวกับแมวเบงกอล (Bengal Cat)

วิธีเลี้ยงแมวเบงกอล

แมวเบงกอลเป็นแมวแอคทีฟ ที่ไม่ชอบการอยู่นิ่ง ทีนี้ใครอยากเลี้ยงแมวเบงกอล นอกจากนิสัยแมวเบงกอลที่ต้องรู้แล้ว เรื่องการดูแลก็สำคัญเช่นกัน ทั้งด้านการดูแลขน อาหาร และการออกกำลังกาย มาดูกันว่าจะเลี้ยงแมวเบงกอลต้องเตรียมพร้อมเรื่องอะไรบ้าง

การดูแลขนแมวเบงกอล

แมวเบงกอลเป็นแมวขนสั้น และไม่ร่วง จึงง่ายต่อการดูแลขน โดยเจ้าของอาจจะแปรงขนน้องสัปดาห์ละครั้ง แต่ในกรณีที่น้องออกไปผจญภัยข้างนอก อาจจะพกฝุ่นและสิ่งสกปรกกลับมาด้วย เจ้าของจะต้องทำความสะอาดให้น้อง อย่างไรก็ตามแมวเบงกอลถึงจะชอบผจญภัยแต่ก็รักความสะอาดด้วยเช่นกัน

การออกกำลังกาย / การฝึก

แมวเบงกอลชอบการเล่น มีความกระตือรือร้น ดังนั้นควรพาน้องออกกำลังกายหรือพาไปเดินเล่นประมาณ 20 นาทีต่อวัน หรือหากิจกรรมให้น้องเล่น หรือพาเล่นน้ำ เพราะเบงกอลชอบน้ำมากๆ รวมถึงฝึกให้แมวเบงกอลเรียนรู้เรื่องต่างๆ อาจจะสั่งให้น้องนั่งหรือกระโดด บอกเลยว่าแมวเบงกอลพร้อมทำกิจกรรมกับเจ้าของในทุกวัน

อาหารของแมวเบงกอล

แมวเบงกอลเป็นแมวที่กินง่าย อาจจะให้อาหารแมวที่มีโปรตีนเป็นหลัก แต่ก็ต้องให้ถูกตามหลักโภชนาการ รวมถึงให้ปริมาณอาหารตามวัยหรือโครงสร้างร่างกาย แล้วควรเตรียมน้ำดื่มสะอาดๆ เบงกอลจะชอบกินน้ำบ่อยๆ

ข้อมูลเกี่ยวกับแมวเบงกอล (Bengal Cat)

โรคที่พบบ่อยในแมวเบงกอล

แมวเบงกอล มีปัญหาสุขภาพอะไรบ้างที่ควรระมัดระวังเพื่อไม่ให้น้องแมวที่รักของเราเป็นโรคได้ มีดังนี้

  • โรคสะบ้าเคลื่อน (Patellar Luxation) แมวจะมีอาการเจ็บขา เกิดจากการที่กระดูกสะบ้าอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ
  • โรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy) เสี่ยงทำให้แมวตาบอดได้ โดยแมวเบงกอลมักพบในช่วงอายุ 2-3 เดือน หรือในช่วง 2-5 ปี
  • ช่องหูภายนอกอักเสบ (Feline Otitis Externa) แมวเบงกอลมีขี้หูเยอะ หากไม่ดูแลให้ดีๆ จะทำให้น้องเป็นโรคหูชั้นนอกอักเสบได้
ข้อมูลเกี่ยวกับแมวเบงกอล (Bengal Cat)

รวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับแมวเบงกอล

เอ็นโซ่ได้รวมคำถามยอดฮิตพร้อมคำตอบเกี่ยวกับแมวเบงกอลมาไว้ให้แล้ว ซึ่งจะทำให้ทาสแมวรู้จักแมวเบงกอลได้ภายในไม่กี่นาที ดังนี้

  • แมวเบงกอลเข้ากับเด็กได้ไหม? แมวเบงกอลเป็นมิตรกับเด็ก ชอบเล่นกับเด็กและแสดงความรักอยู่สม่ำเสมอ
  • แมวเบงกอลชอบน้ำไหม? แมวเบงกอลชอบเล่นน้ำ แช่น้ำมากๆ
  • แมวเบงกอลมีกี่ลาย? หลักๆ จะมี 2 ลาย คือลายจุด กับลายหินอ่อน แต่ละแบบก็จะมีแยกย่อยลวดลายไปอีก
  • แมวเบงกอล ดุไหม? แมวเบงกอลไม่ดุเลย น้องเป็นมิตรทั้งคนและสัตว์ แต่ถ้าสัตว์ขนาดเล็กอาจต้องระมัดระวัง เพราะแมวเบงกอลมีสัญชาตญาณนักล่า
ข้อมูลเกี่ยวกับแมวเบงกอล (Bengal Cat)

สรุป

แมวเบงกอล เหมาะกับใคร? แมวเบงกอลเป็นแมวที่เลี้ยงง่าย เหมือนเลี้ยงแมวไทย ดังนั้นไม่ว่าใครก็สามารถเลี้ยงได้ แต่ใครที่ไม่ค่อยมีเวลาให้น้อง รวมถึงชอบแมวนิ่งๆ เงียบๆ แมวเบงกอลอาจยังไม่ใช่แมวที่คุณตามหา แต่ถ้าคุณกำลังหาแมวที่ขี้เล่น ชอบทำกิจกรรม ฉลาด ก็ต้องแมวเบงกอลเลย

ข้อดีของแมวเบงกอล

  • เลี้ยงง่าย ทั้งเรื่องอาหารและการดูแลขน
  • รักเจ้าของ เป็นมิตรกับทุกคน
  • ขี้เล่น ชอบทำกิจกรรมและการปีนป่าย
  • ฉลาด เรียนรู้เร็ว

ข้อเสียของแมวเบงกอล

  • อยู่ไม่นิ่ง ไม่ชอบอยู่ตัวเดียวเป็นเวลานาน
  • แมวเบงกอลชอบล่าเหยื่อตัวเล็กๆ
ข้อมูลเกี่ยวกับแมวเบงกอล (Bengal Cat)

อ่านบทความนี้กันจนจบแล้ว คงเห็นความน่ารักของแมวเบงกอล และรู้จักแมวสายพันธุ์นี้กันมากขึ้น ซึ่งน้องจะเป็นเพื่อนที่ดีให้กับคุณได้ ไม่ทำให้คุณเหงาแน่นอน ใครอยากหาแมวเบงกอลสักตัวมาเลี้ยง มาเลือกดูได้ที่ ENNXO มีแมวเบงกอล ลูกแมวเบงกอล หลายแบบ หลายราคามีให้เลือกเพียบ ส่วนใครที่อยากส่งต่อความน่ารักของแมวเบงกอลให้ทาสแมวคนอื่น หรือเปิดฟาร์มแมวเบงกอลอยู่ มาลงขายแมวเบงกอลฟรีได้ที่ ENNXO ได้เช่นกัน

ENNXO ตลาดสัตว์เลี้ยงออนไลน์

แชร์ไปยัง :

Share on Line