สารบัญ
วันนี้จะพาเหล่าสายมูไปขอพรกันกับ พระพิฆเนศพันปี ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (National Museum Bangkok) อีกชื่อเรียกว่า พระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ที่กำลังเป็นกระแสติดอันดับท็อปเท็นของพิกัดสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในกรุงเทพฯ เพราะนอกจากจะประดิษฐานพระพิฆเนศปางชวาแล้ว ยังอัดแน่นไปด้วยมนต์ขลังพลังงานดีๆ จากโบราณวัตถุอีกหลากหลายชิ้น ซึ่งวันดีสำคัญในการไหว้ขอพรพระพิฆเนศคือ วันคเณศจตุรถี 2567 ตั้งแต่วันที่ 7 - 17 กันยายน 2567 โดยจะมีเป็นประจำทุกปี
ตามประวัติพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แต่เดิมเป็นพระราชวังบวรสถานมงคล คือ สถานที่ประทับของพระมหาอุปราชาสร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2325 เป็นเวลานานกว่า 240 ปีมาแล้วที่สถานที่แห่งนี้อบอวลไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์
พระพิฆเนศพันปี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
พระพิฆเนศนั่งบนบัลลังก์หัวกะโหลก เป็นองค์พระพิฆเนศเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มักถูกเรียกว่า พระพิฆเนศปางชวา หรือ พระพิฆเนศนั่งหัวกะโหลก” มีลักษณะเด่นคือ เป็นองค์ที่แกะสลักจากหินภูเขาไฟ ประทับนั่งบนหัวกะโหลก มี 4 กร มือขวาถือขวาน มือซ้ายถือพวงลูกประคำ สร้างขึ้นที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย หลังจากในสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกย้ายมาประดิษฐานที่ห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
พระพิฆเนศนั่งบนบัลลังก์หัวหัวกะโหลก ขอพรเรื่องไหน
บอกเลยว่าพระพิฆเนศนั่งบนหัวหัวกะโหลก หรือพิฆเนศปางชวานี้เป็นองค์ที่รวมพลังงานไว้มากมาย นอกจากองค์พ่อจะสามารถประทานพรด้านความสำเร็จ ประทานปัญญา และประทานโชคลาภได้แล้ว พระพิฆเนศนั่งบนหัวหัวกะโหลกองค์นี้ยังเด่นมากในเรื่องปัดเป่าเคราะห์ร้ายสิ่งไม่ดี คุณไสยมนต์ดำต่างๆ ใครที่ดวงไม่ดีเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ดวงตกจึงต้องมาขอพรกับท่าน
ของไหว้พระพิฆเนศปางชวา ปกติที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินั้นจะไม่มีการถวายของไหว้ และจุดธูปเทียนเนื่องจากภายในมีการจัดแสดงโบราณวัตถุเก่าแก่ไว้มากมาย แต่ในกรณีที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดนิทรรศการจึงเปิดให้คนนำของไหว้เข้าไปถวายพระพิฆเนศปางนั่งทับบนหัวกะโหลก โดยของไหว้พระพิฆเนศ ได้แก่ พวงมาลัยดอกไม้, เทียน (เทียนชนิดไฟฟ้า), ข้าวต้มมัด หลังจากไหว้ขอพรแล้วสามารถนำของถวายกลับไปเพื่อความสิริมงคล
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มีอะไรบ้าง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถูกตั้งให้เป็นมิวเซียมหลวงมาตั้งแต่ครั้งสมัย ร.5 จึงทำให้พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยวัตถุโบราณมากมาย อันประกอบไปด้วย
1. พระพุทธสิหิงค์ ณ ที่นั่งพุทไธสวรรย์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่นิยมสูงสุดในการไหว้สักการะ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นปีใหม่ เริ่มต้นเดือนใหม่ และที่สำคัญในช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่หรือในช่วงวันสงกรานต์แนะนำให้มาไหว้พระพุทธสิหิงค์
2. พระปัทมปาณีโพธิสัตว์ หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณี พบในสมัยอู่ทอง
3. พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา หรือหลวงพ่อศิลาขาว เป็นศิลปะทวารวดี
4. พระศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะจีนราชวงศ์หมิง เรียกอีกชื่อว่า เซ็กเกียมอนี้ฮุด
5. พระหายโศก พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา
6. เทวรูปพระอิศวร มีอายุราว 100 กว่าปีในสมัยพญาลิไท ถูกย้ายมาจากเทวสถานโบสถ์พราหมณ์
7. เทวรูปพระแม่ลักษมี ศิลปะชวาตะวันออก
นอกจากนี้ยังมีเทวรูปโบราณต่างๆ อีกมากมายที่มีอายุมากกว่า 100 ปี เช่น เทวรูปพระวิษณุ พระนารายณ์ พระศิวะ รวมถึงหัวโขนครูดนตรีไทย พ่อปู่ฤาษี หุ่นเชิด พร้อมเครื่องดนตรีโบราณ และพระพุทธรูปทรงเครื่องมากถึง 10 องค์ ที่ถูกสร้างตามคติความเชื่อเรื่องกษัตริย์เป็นสมมติเทพ ทั้งยังมีพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน, พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์, พระตำหนักแดง และโรงราชรถ เป็นต้น
ซึ่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นั้นเสียค่าเข้า 30 บาท ก็สามารถไปขอพรไหว้พระพิฆเนศ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ได้แล้ว โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิด เวลา 08.30 - 16.00 น. (ปิดวันจันทร์ - อังคาร) สำหรับสายกลางคืนต้องรอช่วงที่พิพิธภัณฑ์จัดนิทรรศการจึงจะสามารถไปทัวร์รับพลังงานความขลังของพระพิฆเนศพันปีกลางคืนได้ แอบกระซิบว่าวันที่มงคลทรงพลังในการขอพรองค์พ่อพระพิฆเนศนั้นคือวันพฤหัสบดี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวก และความพร้อมของสายมูทุกท่าน
การเดินทางไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ใครที่ถามว่าพิพิธภัณฑ์พระนคร เดินทางยังไง จอดรถที่ไหน ENNXO ได้รวบรวมคำตอบมาให้ทั้งหมดแล้ว รับรองว่าสายมูที่เดินทางไปไหว้พระพิฆเนศ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไปได้ไม่หลงชัวร์
1. ไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้วย mrt : ลงที่สถานีสนามไชย ทางออก 1 (มิวเซียมสยาม) หรือทางออก 2 จากนั้นเดินต่อประมาณ 2 กิโลเมตร พอดูระยะทางมันเหมือนจะไกล แต่จริงๆ แล้วระหว่างทางมีพิกัดให้แวะชมแวะถ่ายรูปได้อย่างชิลๆ ใครเป็นสายเดินต้องถูกใจแน่นอน ถ้าใครไม่ชอบเดินก็สามารถใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์ หรือแท็กซี่ต่อไปอีกนิดก็จะถึงฝั่งวังหน้าที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
2. สำหรับการเดินทางไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยเรือด่วนเจ้าพระยา ก็ทำได้เช่นเดียวกัน สามารถลงที่ท่าวัดอรุณ แล้วต่อเรือข้ามฟากมาลงที่ฝั่งวัดโพธิ์ แล้วเดินต่อหรือนั่งรถสาธารณะไปได้เลย
3. ต่อมาที่การเดินทางด้วยรถเมล์ไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สามารถนั่งรถเมล์สายที่ไปสนามหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หรือโรงละครแห่งชาติ ก็ได้ เช่น สาย 1, 2, 3, 30, 32, 33, 4-50 (123), 65, 80, 53, 59, 91, 189, 503, 25, 6, 9, 19, 64, 65, 70, 80, 84, 39
4. และหากขับรถส่วนตัวไปพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร สามารถจอดรถที่ สนามหลวง ได้เลย