พระพิมพ์ตระกูล“พระกำแพงนางพญา” หรือเรามักเรียกติดปากกันว่า “พระนางกำแพง” เป็นตระกูลพระพิมพ์ที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งมีคุณค่าทั้งทางด้านพุทธศิลป์และพุทธคุณ โดยก่อนที่เราจะพาไปรู้จักพระพิมพ์ตระกูลพระกำแพงนางพญา เรามาทำความเข้าใจกับ “พระพิมพ์” กันก่อนว่าคืออะไร และมีที่มาอย่างไร
พระพิมพ์ คือ พระเครื่องขนาดเล็กที่สร้างโดยใช้แม่พิมพ์ ซึ่งในกระบวนการสร้างนั้นจะมีการใช้วัสดุที่หลากหลายทั้งดิน ขี้เถ้า และมวลสารต่างๆ รวมไปถึงอัฐิของพระที่เชื่อกันว่าเป็นพระอรหันต์ พระเกจิอาจารย์ หรือแม้กระทั่งคนทั่วไปก็สามารถทำพระพิมพ์ได้ เพราะมีความเชื่อกันว่าการทำพระพิมพ์นั้นเป็นการทำเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว และมีไว้สำหรับเป็นที่ระลึกของสังเวชยนียสถานของที่นั้นๆ จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า พระพิมพ์เริ่มมีขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 5-6 ในอดีตการสร้างพระพิมพ์จะไม่ได้มีราคาสูงอย่างในปัจจุบัน เพราะคติของการสร้างพระพิมพ์คืออยากให้คนทุกเพศทุกฐานะสามารถร่วมบุญร่วมกุศลไปพร้อมๆ กันได้
ตอนนี้มาดูพระพิมพ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นเอกลักษณ์ของเมืองกำแพงเพชรกันบ้างคือ พระพิมพ์ตระกูลพระกำแพงนางพญาหรือพระนางกำแพง เป็นพระพิมพ์รูปแบบศิลปะสุโขทัย โดยจะนิยมใช้ในช่วงพ.ศ. 1750-1950 พระพิมพ์ส่วนใหญ่ที่ทำในช่วงนี้จะเป็นพระพุทธรูปเดิน หรือที่เรียกกันว่า พระปางลีลา แต่ความพิเศษของพระพิมพ์ตระกูลพระกำแพงนางพญาคือเป็นพระนั่งขัดสมาธิ ปางมารวิชัย ที่ทำโดยช่างสกุลกำแพงเพชร และมีลักษณะพิเศษคือพิมพ์เป็นทรงสามเหลี่ยม วัสดุที่ใช้ในการผลิตพบว่าส่วนมากจะนิยมทำด้วยเนื้อดิน เนื้อชิน เนื้อว่าน และเนื้อตะกั่วสีแดง
ความนิยมของพระพิมพ์ในตระกูลพระกำแพงนางพญา ผู้คนจะนิยมเช่า-บูชาพระนางกำแพงพิมพ์ลึกมากที่สุด แต่ในทางด้านพุทธคุณแล้วนั้น ทุกองค์มีพุทธคุณเหมือนกันคือช่วยเสริมในด้านเมตตามหานิยม ความเป็นสิริมงคล โชคลาภ เงินทองไหลมาเทมา โดยเฉพาะผู้หญิงถ้าได้ครอบครองพระพิมพ์ตระกูลพระกำแพงนางพญา จะยิ่งส่งเสริมในด้านความสง่างามและความน่าเกรงขามมากยิ่งขึ้น ว่ากันว่าแรกเริ่มในการผลิตพระพิมพ์ตระกูลพระกำแพงนางพญานั้นเป็นการผลิตเพื่อให้ผู้หญิงบูชาโดยเฉพาะ
พระพิมพ์ตระกูลพระกำแพงนางพญา ที่พบส่วนใหญ่มีขนาดความสูงประมาณ 2 เซนติเมตร และความกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร โดยการเรียกพระพิมพ์แต่ละองค์นั้นจะเป็นการเรียกชื่อตามลักษณะทางพุทธศิลป์ที่พบเห็น โดยพระพิมพ์ตระกูลพระกำแพงนางพญาองค์หลักๆ ที่พบนั้นจะประกอบไปด้วย พระนางกำแพงพิมพ์ลึก พระนางกำแพงพิมพ์ตื้นและพระนางกำแพงฐานตาราง โดยพระพิมพ์แต่ละองค์จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
พระนางกำแพงพิมพ์ลึก
พระนางกำแพงพิมพ์ลึก มีลักษณะทางพุทธศิลป์คือเป็นพระปางมารวิชัยประทับอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมมีฐานชั้นเดียว ลำองค์พระล่ำสัน ใบหน้ายาวคล้ายผลมะตูม พระเกศยาวคล้ายกับพระบูชาสมัยสุโขทัย มีเส้นสังฆาฏิและจีวรพาดผ่านหน้าท้องเลยวงแขนออกมา สันนิษฐานว่าพระนางกำแพงพิมพ์ลึกเป็นต้นแบบและถูกสร้างก่อนพระนางกำแพงพิมพ์ตื้น พบได้ทั้งเนื้อดินและเนื้อชินโดยเนื้อดินที่พบนั้นมีลักษณะคล้ายกับพระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ ทุ่งเศรษฐี กำแพงเพชร
พระนางกำแพงเพชรพิมพ์ลึกจะถูกพบได้น้อยกว่าพระพิมพ์ในตระกูลพระนางพญาทั้งหมด บริเวณส่วนใหญ่ที่พบคือ วัดพิกุล วัดบรมธาตุ วัดฤาษี และบริเวณลานทุ่งเศรษฐี ด้วยความที่พระนางกำแพงพิมพ์ลึกพบได้น้อย ทำให้มีราคาสูงในปัจจุบัน
พระนางกำแพงพิมพ์ตื้น
พระนางกำแพงพิมพ์ตื้น มีลักษณะเป็นทรงสามเหลี่ยมเหมือนกับพระนางกำแพงพิมพ์ลึก เพียงแต่ใช้เทคนิคการพิมพ์ตื้นทำให้มองเห็นรายละเอียดขององค์พระไม่ชัดนัก โดยลักษณะทางพุทธศิลป์เป็นพระปางมารวิชัย พระพักตร์ใหญ่ อยู่บนฐานเขียง พระพิมพ์ที่พบส่วนใหญ่เป็นเนื้อดินผสมว่านทำให้ตัวพระมีความละเอียดนุ่ม และเมื่อผ่านระยะเวลาการใช้งานไปจะพบรารักหรือราดำขึ้นตามธรรมชาติ
พระนางกำแพงฐานตาราง
พระนางกำแพงฐานตาราง เป็นหนึ่งในพระพิมพ์ที่พบได้มากจากช่างสกุลกำแพงเพชร ในด้านพุทธศิลป์เป็นพระปางมารวิชัย ตรงฐานจะเป็นลายตาราง และมีลักษณะคลายกลีบบัว พระพิมพ์ที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อดินและเนื้อชิน และด้วยพระนางกำแพงไม่ได้เป็นทรงสามเหลี่ยมเหมือนพระกำแพงนางพญาองค์อื่นๆ ทำให้มีการจัดพระนางกำแพงอื่นๆ มาอยู่ในหมวดเดียวกันกับพระนางกำแพงฐานตาราง ซึ่งเราได้ยกตัวอย่างมา 3 พระพิมพ์ด้วยกันคือพระนางกำแพงเม็ดมะลื่น พระนางกำแพงกลีบบัว และพระนางกำแพงเม็ดมะเคล็ด โดยจะมีรายละเอียดด้านล่างตามลำดับ
พระนางกำแพงเม็ดมะลื่น
พระนางกำแพงเม็ดมะลื่น มีลักษณะค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์คือจะมีขอบด้านข้างขรุขระไม่เรียบ และมีพื้นที่เหลือจากตัวพระเยอะกว่าพระกำแพงองค์อื่นๆ ปลายไม่แหลม โดยพระนางกำแพงเม็ดมะลื่นถูกพบจากกรุพระบรมธาตุฝั่งทุ่งเศรษฐีเพียงแห่งเดียว ไม่มีการพบจากกรุพระอื่นๆ พระพิมพ์จะเป็นเนื้อว่านผสมเกสรดอกไม้ มีขนาดประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร ลักษณะทางพุทธศิลป์เป็นพระปางมารวิชัย อยู่บนฐานเขียง และเมื่อระยะเวลาผ่านไปตัวองค์พระจะมีรารักหรือราดำขึ้นตามธรรมชาติ
พระนางกำแพงกลีบบัว
พระนางกำแพงกลีบบัว ถูกพบครั้งแรกในปี 2392 ที่กรุพระบรมธาตุฝั่งทุ่งเศรษฐี พระพิมพ์จะเป็นเนื้อดินผสมว่านดอกมะขามและเกสรดอกไม้ เนื้อจะมีความละเอียดนุ่ม และเมื่อระยะเวลาผ่านไปพระพิมพ์ตัวพระพิมพ์จะมีว่านดอกมะขามจะปรากฏขึ้นบนองค์พระ และจะมีรารักหรือราดำปรากฏให้เห็น ในด้านพุทธศิลป์เป็นพระปางมารวิชัยอยู่บนฐานเขียง ตัวองค์พระล่ำสัน ไม่มีเส้นขอบ เมื่อมองไปที่ตัวพระพิมพ์จะมีลักษณะทรงคล้ายกับกลีบบัว จึงเป็นที่มาของชื่อพระนางกำแพงกลีบบัว
พระนางกำแพงเม็ดมะเคล็ด
พระนางกำแพงเม็ดมะเคล็ด ในปัจจุบันพบได้ไม่ยากนัก ลักษณะที่พบจะเป็นเนื้อดินละเอียด มีความแข็ง ตัวพระพิมพ์ส่วนใหญ่จะเป็นสีดำเกือบทั้งหมด จะมีสีน้ำตาลน้อยมาก ลักษณะของพระนางกำแพงเม็ดมะเคล็ดจะมีเส้นขอบสามเหลี่ยมล้อมองค์พระอย่างเห็นได้ชัด แต่ไม่มีการตัดขอบส่วนเกินออก ทำให้มีส่วนเหลือบริเวณด้านข้างและใต้ฐาน เมื่องมองแล้วมีลักษณะคล้ายเม็ดมะเคล็ด ด้วยลักษณะดังกล่าวจึงนำมาตั้งชื่อเป็น “พระนางกำแพงเม็ดมะเคล็ด”
ซึ่งจากที่เราได้พาส่องพระพิมพ์ตระกูลนางพญาไปแล้ว หลายๆ ท่านอาจกำลังรู้สึกสนใจในการเช่า-ขายพระเครื่องไม่ว่าจะเป็นพระพิมพ์ตระกูลพระนางพญา หรือพระพิมพ์อื่นๆ เรามีแพลตฟอร์มออนไลน์ไว้รองรับสำหรับทุกท่าน โดยสามารถเข้าไปที่ENNXO.COMเพื่อดูพระพิมพ์ที่เราต้องการเช่า-ขายพระเครื่องได้ หากคุณสนใจสามารถดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง