สารบัญ
นอกจากแมวเปอร์เซียที่ได้รับความนิยมในเหล่าทาสแมวแล้ว อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มีหน้าตาคล้ายกับแมวพันธุ์เปอร์เซียอย่าง แมวชินชิล่า ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน หลายๆ คนอาจสงสัยว่าเจ้าแมวชินชิล่า มีที่มาอย่างไร รวมถึงนิสัยและวิธีการเลี้ยงดู ไม่เพียงเท่านี้คำว่าชินชิล่ายังเป็นชื่อเรียกสายพันธุ์หนูอีกด้วย อาจสร้างความสับสนขึ้นได้ แต่ถ้าคุณกำลังอยากทำความรู้จักชินชิล่าที่เป็นแมว คุณมาถูกที่แล้ว
ประวัติแมวชินชิล่า มาจากไหน
ชินชิล่า (Chinchilla) หรือชินชิลล่า เป็นชื่อสายพันธุ์แมวที่เหมือนกับชื่อหนูสายพันธุ์ชินชิล่า โดยการตั้งชื่อพันธุ์ว่า “ชินชิล่า” นี้ได้แรงบันดาลใจมาจากหนูชินชิล่า เพราะลักษณะสีขนของน้องแมวพันธุ์ชินชิล่าเป็นสีขาว มีความเป็นประกายสีเงินเล็กน้อย ซึ่งลักษณะเหมือนกับหนูชินชิล่านั่นเอง
แมวชินชิล่าเป็นแมวลูกผสมที่เกิดจากแมวเปอร์เซีย ทำให้หลายคนมักเรียกน้องว่า แมวเปอร์เซียชินชิล่า สำหรับต้นกำเนิดของแมวชินชิล่า ต้องย้อนกลับไปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีนักเพาะพันธุ์ชาวอังกฤษชื่อว่า Vallence ได้นำแมวเปอร์เซียผสมพันธุ์กับแมวจรจัด กลายเป็นแมวสายพันธุ์ชินชิล่าขึ้นมา หลังจากนั้นเจ้าหญิงวิคตอเรียทรงชอบแมวสายพันธุ์ชินชิล่าอย่างมาก จึงทำให้การเพาะพันธุ์แมวสายพันธุ์นี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นแมวของชนชั้นสูง แล้วในปี 2001 สายพันธุ์ชินชิล่าได้รับการยอมรับจากสำนักงานทะเบียนสายพันธุ์แมวอังกฤษ (GCCF)
ลักษณะนิสัยแมวชินชิล่า
หากคุณกำลังมองหาแมวที่เรียบร้อยๆ แมวชินชิล่าถูกใจคุณอย่างแน่นอน เพราะแมวชินชิล่ามีนิสัยรักความสงบ มีความอ่อนโยน อ้อนเจ้าของเก่ง ชอบแสดงความรักและใช้เวลาร่วมกับเจ้าของ รวมถึงยังเข้าสังคมเก่งมากๆ แต่น้องจะไม่ชอบออกกำลังกาย เรียกว่าเป็นแมวจอมขี้เกียจเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ถึงแม้น้องจะชอบงีบมากๆ ไม่ค่อยส่งเสียงดัง แต่น้องก็เป็นแมวขี้เหงาด้วยนะ ดังนั้นเจ้าของไม่ควรปล่อยให้น้องอยู่ตัวเดียวตามลำพังเป็นเวลานาน
แมวชินชิล่าแท้ ดูอย่างไร
ลักษณะทางกายภาพของแมวชินชิล่า แท้ ลำตัวแมวชินชิล่าจะมีขนาดกลางๆ หัวกลม จมูกสั้น หูสั้น และขาสั้น ขอบปากกับขอบจมูกมีสีดำ หางสั้นมีขนหนาปกคลุม แมวพันธุ์ชินชิล่ามีตากลมโตขนาดใหญ่และมีตาสีเขียวเท่านั้น รอบดวงตาเป็นสีดำเข้มเหมือนกับกรีดอายไลเนอร์ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของน้องแมวสายพันธุ์ชินชิล่า
ส่วนเรื่องน้ำหนักและส่วนสูงของแมวชินชิล่าเมื่อโตเต็มที่ แมวตัวผู้ จะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 4-7 กิโลกรัม สูงประมาณ 23-25 เซนติเมตร ส่วนแมวชินชิล่า ตัวเมีย น้ำหนักประมาณ 3-6 กิโลกรัม ส่วนสูงประมาณ 22-25 เซนติเมตร โดยแมวชินชิล่า มีอายุขัยประมาณ 12-15 ปี
หลายคนอาจตั้งคำถามกันว่า แมวชินชิล่ามีกี่สี มีกี่ลาย อะไรบ้าง โดยน้องเป็นแมวที่ขนยาวและหนา สีขนเป็นสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน ปลายขนเป็นสีดำเท่านั้น ซึ่งทำให้ตัวน้องดูเป็นประกายๆ ดังนั้นถ้าน้องแมวชินชิล่ามีขนสีขาวปลายดำ จะเรียกว่า แมวชินล่า สีซิลเวอร์ แต่ถ้ามีขนสีน้ำตาลอ่อนปลายสีดำ เรียกว่า แมวชินชิล่า สีโกลเด้น ใครที่สนใจน้องแมวชินชิล่า ค่าตัวน้องจะอยู่ที่ราคาเริ่มต้นประมาณ 3,000 บาท ไปจนถึงหลักหมื่นบาท
แมวชินชิล่ากับเปอร์เซีย แตกต่างกันอย่างไร
รู้ลักษณะแมวพันธุ์ชินชิล่ากันไปแล้ว ทีนี้ความแตกต่างระหว่างแมวชินชิล่ากับเปอร์เซียจะดูรู้ได้อย่างไร โดยสามารถสังเกตลักษณะความแตกต่างได้ดังนี้
- ดวงตา: แมวชินชิล่าจะมีดวงตาใหญ่กว่า และมีขอบดวงตาสีดำเห็นชัดเจนมากกว่า
- หู: ลักษณะหูจะมีขนาดเล็กและยาวกว่าแมวเปอร์เซีย
- จมูก: แมวพันธุ์ชินชิล่าเป็นแมวจมูกสั้น แต่ไม่แบนเหมือนกับแมวเปอร์เซีย
- ปาก: ไม่สั้นเท่าแมวเปอร์เซีย
กล่าวได้ว่าความแตกต่างที่สามารถแยกได้ง่ายระหว่างแมวพันธุ์ชินชิล่ากับแมวพันธุ์เปอร์เซีย ก็คือ เรื่องสีขอบดวงตา และลักษณะของจมูกกับปาก เพราะแมวเปอร์เซียจะมีจมูกแบนที่เห็นได้ชัดกว่า
วิธีเลี้ยงแมวชินชิล่า เลี้ยงยากไหม?
นอกจากรู้เรื่องนิสัยของแมวชินชิล่าแล้ว ยังมีเรื่องที่ควรรู้ก่อนที่จะรับน้องชินชิล่ามาเลี้ยง นั่นก็คือวิธีการเลี้ยงแมวชินชิล่า ทั้งเรื่องการดูแลขน เรื่องอาหาร และเรื่องการออกกำลังกาย ดังนี้
การดูแลแมวชินชิล่า
การดูแลขนแมวชินชิล่า แมวสายพันธุ์นี้ต้องให้ความสำคัญกับขนน้องเป็นพิเศษเพราะน้องมีขนยาว และผลัดขนบ่อย ดังนั้นเจ้าของต้องหมั่นแปรงขนให้เป็นประจำ รวมถึงพาน้องอาบน้ำบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ขนน้องเป็นกระจุก และไล่พวกฝุ่น สิ่งสกปรกต่างๆ อีกด้วย นอกจากนี้เจ้าของต้องหมั่นเช็ดคราบน้ำตา แปรงฟัน และตัดเล็บด้วยนะ
การออกกำลังกาย
ถึงแม้แมวพันธุ์ชินชิล่า จะไม่ชอบออกกำลังกาย แต่เจ้าของก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยในเรื่องนี้เด็ดขาด อาจจะหาของเล่นให้น้องได้เล่นเพื่อเสริมพัฒนาการ อย่างเช่น อุโมงค์แมว ของเล่นที่ขูดเล็บได้ และแสงเลเซอร์แมว เป็นต้น หรือเจ้าของจะเล่นกับน้องให้น้องได้เคลื่อนไหวตัวบ้าง
อาหารของแมวชินชิล่า
ไม่ว่าจะเป็นอาหารแห้งหรืออาหารเปียก ควรเตรียมให้ถูกตามหลักโภชนาการ โดยเลือกอาหารที่มีส่วนประกอบหลักเป็นเนื้อสัตว์ เพราะร่างกายแมวชินชิล่าต้องการอาหารคุณภาพสูง รวมถึงเตรียมอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า ที่ช่วยเรื่องขนสวยเงางาม นอกจากนี้ต้องเตรียมน้ำสะอาดๆ ไว้ให้น้องดื่มด้วยนะ
โรคที่พบบ่อยในแมวชินชิล่า
แมวแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งจะมีโรคที่มักเกิดขึ้นกับแมวสายพันธุ์นั้นๆ เจ้าของต้องดูแลเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้น้องแมวที่รักเป็นโรคหรือมีอาการเจ็บป่วย ซึ่งแมวสายพันธุ์ชินชิล่ามีโรคที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ดังนี้
- โรคผิวหนัง แมวชินชิล่ามีความไวต่อเรื่องผิวหนัง ดังนั้นต้องดูแลเรื่องขนน้องให้เป็นอย่างดี
- โรคถุงน้ำในไต เป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรม เกิดจากความผิดปกติของยีนที่ชื่อว่า Autosomal dominant Polycystic kidney disease (AD-PKD) ซึ่งยีนนี้มักพบในแมวพันธุ์ชินชิล่า ที่เป็นลูกผสมของแมวเปอร์เซีย
- โรคหนังตาม้วนเข้า จะทำให้หนังตาทั้งบนและล่างของแมวม้วนเข้า ซึ่งโรคนี้เกิดจากพันธุกรรม โดยเฉพาะกลุ่มแมวหน้าสั้นอย่าง พันธุ์ชินชิล่า นั่นเอง
รวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับแมวชินชิล่า
Q&A ที่พบบ่อยเกี่ยวกับแมวชินชิล่า ทางเอ็นโซ่ได้รวมมาให้แบบสรุปง่ายๆ ดังนี้
- แมวชินชิล่ากับเปอร์เซียคือพันธุ์เดียวกันไหม: คนละสายพันธุ์กัน แต่พันธุ์ชินชิล่าเป็นลูกผสมเกิดจากพันธุ์เปอร์เซีย
- แมวชินชิล่ามีกี่สี: มี 2 สี คือขนสีขาวปลายสีดำ ( แมวชินล่า สีซิลเวอร์) กับขนสีน้ำตาลอ่อนปลายสีดำ (แมวชินชิล่า สีโกลเด้น)
- แมวชินชิล่าดื้อไหม: แมวพันธุ์ชินชิล่าไม่ดื้อ น้องรักความสงบและชอบงีบ
- ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างแมวชินชิล่ากับเปอร์เซีย: ขอบดวงตาของแมวพันธุ์ชินชิล่าจะเห็นชัดเจนมากกกว่า และจมูกไม่แบนเหมือนพันธุ์เปอร์เซีย
- แมวชินชิล่าราคาเท่าไหร่: แมวพันธุ์ชินชิล่ามีราคาหลักพันขึ้นไปจนถึงหลักหมื่นบาท (ขึ้นอยู่กับร้านค้าหรือฟาร์มแมว
สรุป
มาดูสรุปข้อดีข้อเสียของแมวพันธุ์ชินชิล่ากันอีกครั้ง ดังนี้
ข้อดีของแมวชินชิล่า
- เป็นแมวที่อ้อนเจ้าของเก่งมาก
- ชอบนอนพักผ่อนมากๆ ทำให้เจ้าของมีเวลาทำอย่างอื่น
- เข้าสังคมเก่ง ทั้งเข้ากับเด็ก เจ้าของ และกับแมวด้วยกันเองได้ดี
- ไม่ต้องเตรียมพื้นที่กว้างให้น้อง เพราะน้องไม่ได้เน้นการออกกำลังกายมากนัก
- เป็นแมวสวย ที่ใครเห็นก็ต้องตกหลุมรัก
ข้อเสียของแมวชินชิล่า
- แมวพันธุ์นี้ต้องดูแลเรื่องขนเป็นพิเศษ เจ้าของต้องขยันหมั่นแปรงขนให้เป็นประจำ
- แมวชินชิล่าเป็นแมวพันธุ์ผสมเปอร์เซีย จะมีโรคพันธุกรรมที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
- นิสัยแมวชินชิล่าไม่ชอบออกกำลังกาย เจ้าของต้องหาวิธีให้น้องเคลื่อนไหวตัว
- เป็นแมวขี้เหงา ไม่ควรปล่อยไว้ตัวเดียวเป็นเวลานาน
จากข้อดีข้อเสียของแมวชินชิล่านี้ จะเห็นได้ว่าแมวชินชิล่า เหมาะกับทาสแมวที่อยากได้แมวสวยๆ ที่มีนิสัยขี้อ้อน เข้ากับครอบครัวได้ง่าย ไม่ซนจนเกินไป แต่ถ้าใครไม่ค่อยมีเวลาแปรงขนให้น้อง หรือเป็นโรคภูมิแพ้ แมวพันธุ์ชินชิล่าอาจยังไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่
เป็นอย่างไรกันบ้าง เพื่อนๆ ที่สนใจแมวพันธุ์ชินชิล่า น่าจะพอรู้จักแมวสายพันธุ์นี้กันมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากตัดสินใจที่จะเลี้ยงน้องอย่าลืมทำความรู้จักแมวสายพันธุ์นี้ เตรียมสภาพแวดล้อมดีๆ ให้กับน้อง และพาน้องแมวไปฉีดวัคซีนให้ครบ ตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์เป็นประจำ นอกจากนี้หากใครที่อยากซื้อขายแมวชินชิล่า หรือกำลังทำธุรกิจฟาร์มแมวชินชิล่าหรือแมวสายพันธุ์อื่นๆ สามารถเข้ามาเลือกซื้อ หรือลงขายแมวชินชิล่าฟรี ได้ที่ ENNXO ตลาดแมวออนไลน์ มาหาแมวที่ถูกใจและเพิ่มยอดขาย ส่งต่อทาสแมวไวๆ ที่เอ็นโซ่